ชี้ทิศทางประเทศไทย : เด็กหลุดจากระบบการศึกษา ปัญหาที่เราต้องช่วยกันแก้
นี่ก็ใกล้จะจบปีการศึกษาและปิดเทอมใหญ่แล้ว ประเด็นสำคัญที่ผมได้เรียนรู้มาจากการทำงานร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เป็นเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมาก็คือ ช่วงปิดเทอม จะเป็นช่วงเวลาที่เด็กที่อยู่ในกลุ่มเปราะบางทางสังคมเศรษฐกิจ มีความเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษามากที่สุดช่วงหนึ่ง เนื่องจากช่วงที่เด็กๆ ปิดเทอม จะเป็นเวลาที่สามารถช่วยงานพ่อแม่และครอบครัวในการทำงานหารายได้เสริมได้ หลายกรณีเด็กหรือ
ผู้ปกครองก็เลือกที่จะไม่กลับเข้ามาในระบบการศึกษาอีก
จากที่ได้คุยกับทาง กสศ.และลงพื้นที่ในจังหวัดราชบุรีที่เราเริ่มโครงการ Zero Drop Out มา เห็นภาพได้ชัดว่าปัญหาเรื่องเด็กหลุดจากระบบการศึกษามีความซับซ้อนกว่าที่ผมคิดไว้ตอนแรกมาก แม้ว่า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 จะบอกว่าบุคคลมี “สิทธิ” และ “โอกาส” เสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี ที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึง โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย แต่เด็กบางกลุ่มขาดโอกาสที่จะได้ใช้สิทธินี้ เนื่องจากถูกเงื่อนไข เช่น ความยากจน หรือกำพร้าพ่อแม่ ฯลฯ บังคับให้พวกเขา “หลุดจากระบบการศึกษา” อย่างเลือกไม่ได้เพราะไม่สามารถรองรับค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าเครื่องแบบนักเรียน ค่าเดินทางไปโรงเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียนต่างๆ ฯลฯ
นอกจากปัญหาเรื่องของความเปราะบางทางเศรษฐกิจที่เป็นปัจจัยหลักแล้ว เรายังพบเจอปัจจัยอื่นๆ เช่น เด็กชาติพันธุ์ที่มีปัญหาด้านสิทธิสถานะ หรือเด็กต่างด้าว เด็กพิเศษ เช่น มีอาการดาวน์ซินโดรม หรือออทิสติก เด็กที่ติดยาเสพติด หรือคุณแม่
วัยใส ซึ่งต้องยอมรับว่าทำให้ความคิดเรื่องของ “การให้ทุนการศึกษา” ที่ผมเคยคิดว่าจะช่วยให้เด็กกลับเข้าระบบการศึกษาไม่ใช่สาระที่สำคัญที่สุดในการแก้ปัญหา
สิ่งหนึ่งที่ผมค้นพบจากโครงการต้นแบบ Zero Drop Out ที่ราชบุรีก็คือ “กลไก” และ “ความร่วมมือของภาคี” มีความสำคัญอย่างมากในการเริ่มต้นจัดการปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาอย่างยั่งยืน แต่ต้องเป็นการจัดการแบบค่อยเป็นค่อยไป
สิ่งแรกที่ต้องทำคือการเข้าถึงข้อเท็จจริงในท้องที่ให้มากที่สุด กลไกในการค้นหาและเก็บข้อมูลของเด็กๆ และครอบครัวจากทุกโรงเรียนในราชบุรี โดยการที่คุณครูไปเยี่ยมบ้านนักเรียนพร้อมทำเช็กลิสต์ให้รู้ว่าเด็กแต่ละคนมีสภาพความเป็นอยู่อย่างไร มีปัญหาอย่างไร และยังได้พลังจาก “ภาคี” อาสาสมัครในท้องถิ่นในราชบุรี 3 กลุ่ม ได้แก่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) และอาสาสมัครการศึกษา (อสศ.) ที่ระดมกำลังกันช่วยให้การทำงานเข้าถึงในทุกหมู่บ้าน เก็บข้อมูลเด็กที่เสี่ยงหลุดระบบการศึกษาหรือเด็กนอกระบบเพื่อนำมาวิเคราะห์และบริหารจัดการต่อไป
วิธีแก้ปัญหาก็ไม่ใช่จะเป็นการให้ทุนแค่อย่างเดียว ยกตัวอย่างกรณีของเด็กชายคนหนึ่งที่กำลังจะจบประถม 6 และอยากเรียนต่อในชั้นมัธยม 1 แต่ที่บ้านไม่พร้อมด้านการเงินเพราะต้องเสียค่าเดินทางวันนึงไม่น้อย ความช่วยเหลือที่เด็กได้รับและตอบโจทย์ก็คือการประสานหาโรงเรียนพักนอนหรือโรงเรียนประจำให้เด็กได้เรียนต่อ ถือเป็นกลไกส่งต่อเด็กระหว่างโรงเรียนต้นทางและโรงเรียนปลายทางที่ทำให้เด็กไม่หลุดจากระบบ
หรืออย่างกรณีภารกิจของอาจารย์ท่านหนึ่งที่รับดูแล 5 อำเภอในราชบุรี ต้องค้นหาเด็กและเยาวชนนอกระบบกลุ่มเปราะบาง ต้องติดต่อกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สอบถามว่าในแต่ละหมู่บ้านนั้นมีเด็กที่ไม่ได้ไปโรงเรียนอยู่กี่คน อยู่บ้านไหนบ้าง ประสานกลุ่มพลังอาสา 3 กลุ่มด้านบนช่วยรวบรวมข้อมูลตามที่ได้เบาะแส และขอเยี่ยมบ้านเด็กพูดคุยกับพ่อแม่เด็ก ตามที่ผู้ปกครองสมัครใจอยากรับความช่วยเหลือก่อน จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการพัฒนาเด็กเยาวชนและส่งต่อไปยังโรงเรียนหรือสถานศึกษาที่เหมาะสม
ยังมีกลุ่มเด็กดาวน์ซินโดรม ออทิสติก และพิการ ที่อาศัยในวัดห้วยหมู อ.เมือง จ.ราชบุรี ซึ่งทางวัดเปิดพื้นที่ให้พ่อแม่ที่เปราะบางและมีลูกพิเศษมารวมตัวช่วยกันดูแลและสอนเด็กๆ เหล่านี้เท่าที่จะทำกันเองได้ มีการส่งเด็กเรียนในชั้นประถมที่โรงเรียนวัดห้วยหมู สอนกิจกรรม เช่น เพนต์กระเป๋าผ้า สร้างรายได้หมุนกลับไปเป็นค่าใช้จ่ายกับเด็กๆ และได้เริ่มมีหน่วยงาน เช่น การศึกษาพิเศษ เข้ามาสอนพัฒนาการเด็กในบางวัน และอาจารย์ท่านดังกล่าวจะจัดระบบการเรียนผ่านโทรศัพท์มือถือ และสอนพัฒนาการเด็ก โดยหวังว่าจะหาช่องทางเรียนต่อให้กับเด็กจนสำเร็จ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
ภาพที่เห็นจากประสบการณ์ทำโครงการนี้ร่วมกับ กสศ.ในปีที่ผ่านมา ทำให้ผมตระหนักดีว่าปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาเป็นปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ ที่ซับซ้อน เป็นต้นทุนของประเทศที่จะลดทอนศักยภาพการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโดยตรง และต้องอาศัยแรงของหลายฝ่ายในการช่วยกัน
โดยผมในฐานะตัวแทนภาคเอกชนเอง จากประสบการณ์พูดได้เต็มปากว่าเราสามารถมีบทบาทสำคัญได้เพราะมีความยืดหยุ่นในการสร้าง “กลไก” ใหม่ๆ ร่วมมือกับภาครัฐ และภาคีอื่นๆ ให้เกิดการรวมเป็นเครือข่ายทางสังคมที่สามารถสร้างผลกระทบในทางบวก เสริมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ผลักดันให้เด็กกลุ่มนี้มีชีวิตที่ดีขึ้นได้ มาช่วยกันครับ